แผนภาพการเชื่อมโยงงานตามนโยบายของ รมว.กษ.


แผนภาพการเชื่อมโยงงานตามนโยบายของ รมว.กษ.

        แนวคิด “การยกกระดาษ A4” ได้กำหนดเป้าหมายปลายทาง คือ ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการวางแผนจากปลายทางมายังจุดเริ่มต้นว่า จะต้องทำอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ดังกล่าว นั่นคือจะต้องทำให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพ ลดต้นทุนให้ได้ 20% และเพิ่มผลผลิต 20% ซึ่งก็คือการดำเนินงานตามนโยบาย กษ. ที่ได้กำหนดในปี 2559 และต่อเนื่องปี 2560 สามารถแบ่งเป็น 9 เรื่อง คือ ศูนย์เรียนรู้ ศพก. แปลงใหญ่ Zoning by Agri-Map มาตรฐานสินค้าเกษตร GAP อินทรีย์เกษตรทฤษฎีใหม่/ผสมผสาน ธนาคารสินค้าเกษตร แผนผลิตข้าวครบวงจร การจัดที่ดินทำกินของ ส.ป.ก. และระบบส่งน้ำ/กระจายน้ำ นโยบายทั้งหมดนี้จะขับเคลื่อนโดย อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย

        สามารถอธิบายเชื่อมโยงดังนี้ใช้ ศพก.เป็นสถานที่เรียนรู้นำไปสู่การผลิตร่วมกันแบบแปลงใหญ่ หากพื้นที่ที่เกษตรกรทำการผลิตอยู่ในปัจจุบันไม่เหมาะสม จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่สินค้าที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าโดยอาศัย Agri-Map เป็นเครื่องมือ เกษตรกรต้องผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน GAP หรือพัฒนาสู่เกษตรอินทรีย์ใน ขณะเดียวกันจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรให้พออยู่พอกิน จะต้องทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน ควบคู่กันไป การทำเรื่องธนาคารสินค้าเกษตร ธนาคารเมล็ดพันธุ์การสร้างยุ้งฉางเพื่อให้เกษตรกรมีที่เก็บที่ฝากสินค้า โดยไม่ต้องเร่งขาย โดยสินค้าหลักคือ ข้าว ต้องดำเนินการผลิตตามแผนข้าวครบวงจร การทำการเกษตรจะต้องมีระบบ ส่งน้ำและกระจายน้ำให้ทั่วถึง เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต รวมถึงเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกิน จะต้องเร่งรัดการจัดสรรที่ดิน ของ ส.ป.ก. ทั้งพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ได้รับจากกรมป่าไม้ที่ดินที่ยึดคืนตาม ม.44 และที่ดินเอกชนที่จะให้เกษตรกรเข้าทำกินตามแนวทางประชารัฐ เป็นการร้อยเรียงให้เห็นความเชื่อมโยงนโยบายของ กษ.

        ในการร่วมกันยกกระดาษ A4 ใครทำ จะต้องพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer เพื่อให้สามารถนำนโยบายและเทคโนโลยีไปปฏิบัติในแปลงของตนเอง โดยใช้ ศพก.เป็นจุดเรียนรู้ดังนั้น ภาครัฐต้องพัฒนา ศพก. ให้ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง และพัฒนาไปสู่การดำเนินธุรกิจโดยเกษตรกร จะต้องยกระดับคุณภาพของสหกรณ์ให้เข้มแข็ง ในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐก็ต้องพัฒนาให้เป็น Smart Officer มีความรู้ความสามารถในงานที่ทำ และอาศัยระบบสั่งการแบบ single command เพื่อบูรณาการในลักษณะ Agenda และ Area

        การดำเนินการดังกล่าวข้างต้น จะต้องอาศัยตัวช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ โดยตรง เช่น การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ยุ้งฉาง ลานตาก โรงสี รวมทั้งการจัดให้มี ตลาดสินค้าเกษตร เป็นต้น รวมทั้งอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนในรูปแบบประชารัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ

********************************

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

20 มกราคม 2560